Monday, March 2, 2009

การเพิ่มคอมพิวเตอร์ที่ใช้ Windows 7 เข้าเป็นสมาชิกโดเมน (AD DS)

เอนทรี่นี้จะเป็นการสาธิตวิธีการเพิ่มคอมพิวเตอร์ที่ใช้ Windows 7 เข้าเป็นสมาชิกโดเมน (AD DS) แต่ก่อนอื่นขอแนะนำข้อมูลเบื้องต้นคร่าวๆ ก่อนครับ ในการใช้งานคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ นั้นจะมีอยู่ 2 ลักษณะด้วยกัน คือ Workgroup และ Domain โดยรายละเอียดของทั้ง 2 ลักษณะ มีดังนี้

Workgroup
โดยดีฟอลท์นั้น การใช้งานคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์จะเป็นแบบ Workgroup ซึ่งเหมาะกับการใช้งานของผู้ใช้ตามบ้าน หรือว่าเป็นการใช้งานในหน่วยงานที่มีขนาดเล็กและไม่มีการการติดตั้งให้บริการ Acitve Directory อยู่บนระบบเครือข่าย โดยชื่อของ Workgroup นั้น จะถูกกำหนดในขั้นตอนการติดตั้ง ซึ่งค่าดีฟอลท์จะเป็น "Workgroup" และสามารถมีสมาชิกเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows 98 ขึ้นไปจนถึง Windows 7

ในด้านของการแชร์ทรัพยากรต่างๆ การใช้งานในแบบ Workgroup นั้น เช่น ไฟล์และโฟลเดอร์, เครื่องพิมพ์ เป็นต้น จะเป็นการแชร์ในแบบ Peer-to-Peer โดยในการเข้าใช้งานจะต้องใช้ยูสเซอร์และพาสเวิร์ดของคอมพิวเตอร์ที่เป็นเครื่องแชร์ ซึ่งอาจมีความยุ่งยากในกรณีที่มีการกำหนดยูสเซอร์และพาสเวิร์ดในแต่ละเครื่องต่างกัน ดังนั้นการใช้งานจึงเหมาะกับการใช้ในระบบเครือข่ายที่มียูสเซอร์ไม่มากนัก

Domain
การใช้งานในแบบ Domain นั้น ส่วนมากจะนิยมใช้งานองค์การที่ขนาดกลางจนถึงใหญ่ โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญ คือ ต้องมีการติดตั้ง Active Directory ให้บริการบนระบบเครือข่าย โดยชื่อของ Domain นั้น จะถูกกำหนดในขั้นตอนการติดตั้ง Active Directory โดยการเข้าเป็นสมาชิกของโดเมนได้นั้นจะต้องมีการคอนฟิกระบบตามค่าที่กำหนดโดยแอดมินของโดเมน และต้องกระทำโดยใช้แอดมินของโดเมนเท่านั้น

ในด้านของการแชร์ทรัพยากรต่างๆ การใช้งานในแบบ Domain นั้น จะเป็นการแบบรวมศูนย์ ซึ่งโดยทั่วโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็น Member Server จะทำหน้าที่ให้บริการแชร์ทรัพยากรต่างๆ เช่น ไฟล์และโฟลเดอร์, เครื่องพิมพ์ เป็นต้น และเมื่อผู้ใช้ต้องการเข้าใช้งานทรัพยากรที่แชร์บนระบบโดเมนก็จะต้องใช้ "Domain user" เป็นตัวตรวจสอบสิทธิ์ในการใช้งาน การจัดการระบบ User & Password แบบ Domain สามารถทำได้ง่ายกว่าแบบ Workgroup เนื่องจากสามารถจัดการจากส่วนกลางได้ จึงเหมาะสำหรับการใช้งานในระบบที่มีผู้ใช้จำนวนมาก

การเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเป็นสมาชิกของโดเมน
การเพิ่มคอมพิวเตอร์ที่ใช้ Windows 7 เข้าเป็นสมาชิกของโดเมนนั้น จะต้องทำการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ดังนี้

1. เตรียมโดเมนยูสเซอร์และพาสเวิร์ดที่มีสิทธิ์ในการเพิ่มเครื่องคอมพิวเตอร์เข้าเป็นสมาชิกของโดเมน
2. ทำการคอนฟิกค่า IP Address และ DNS Server ของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะเข้าเป็นสมาชิกของโดเมน ให้สอดคล้องกับระบบโดเมน (Active Directory)
3. ทำการเชื่อมต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะเพิ่มเข้าเป็นสมาชิกของโดเมนเข้ากับระบบเครือข่าย และทดสอบการใช้งาน โดยจะต้องสามารถติดต่อกับ DNS Server และ Domain Controler ของ Active Directory ได้ ซึ่งอาจ ใช้วิธีการ Ping ก็ได้
4. เตรียมโดเมนยูสเซอร์และพาสเวิร์ดที่เป็นผู้ใช้ระดับ "User" สำหรับใช้ทดสอบการใช้งาน

หมายเหตุ: โดยทั่วไปการเพิ่มคอมพิวเตอร์เข้าเป็นสมาชิกของโดเมนนั้นจะดำเนินการโดยโดเมนแอดมิน

เมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะทำการเพิ่มเข้าเป็นสมาชิกของโดเมน ได้รับการตั้งค่าต่างๆ ถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถทำการเพิ่มเข้าเป็นสมาชิกของโดเมนตามขั้นตอนต่อไปนี้

1. คลิกปุ่ม Start คลิกขวาที่ Computer แล้วคลิก Properties
2. ในหน้าต่าง System ในส่วน Computer name, domain, and workgroup settings ให้คลิก Change Settings ดังรูปที่ 1


รูปที่ 1 Change Settings

3. ในหน้าไดอะล็อกบ็อกซ์ System Properties บนแท็บ Computer Name คลิก Change ดังรูปที่ 2


รูปที่ 2 System Properties

4. ในไดอะล็อกบ็อกซ์ Computer Name/Domain Changes ในส่วน Member of ให้คลิกเลือก Domain แล้วพิมพ์ชื่อโดเมนที่ต้องการเข้าเป็นสมาชิกในช่องด้านล่างดังรูปที่ 3 เสร็จแล้วคลิก OK


รูปที่ 3 Computer Name/Domain Changes

5. วินโดวส์จะแสดงไดอะล็อกบ็อกซ์ Windows Security ให้ใส่ยูสเซอร์และพาสเวิร์ดดังรูปที่ 4 ให้ใส่โดเมนยูสเซอร์และพาสเวิร์ดที่มีสิทธิ์ในการเพิ่มเครื่องคอมพิวเตอร์เข้าเป็นสมาชิกของโดเมน เสร็จแล้วคลิก OK


รูปที่ 4 Windows Security

6. หากการเพิ่มสำเร็จวินโดวส์จะแสดงไดอะล็อกบ็อกซ์ Welcome to Your_Domain ดังรูปที่ 5 ให้คลิก OK


รูปที่ 5 Welcome to Your_Domain

7. จากนั้นวินโดวส์จะแจ้งข้อความให้ทำการรีสตาร์ทคอมพิวเตอร์เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงมีผลดังรูปที่ 6 ให้คลิก OK


รูปที่ 6 Restart Computer

8. จากนั้นในไดอะล็อกบ็อกซ์ System Properties ดังรูปที่ 7 ให้คลิก Close ซึ่งวินโดวส์จะแจ้งข้อความให้ทำการรีสตาร์ทคอมพิวเตอร์เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงมีผล ดังรูปที่ 8 ให้คลิก Restart Now เพื่อทำการรีสตาร์ทเครื่องคอมพิวเตอร์ในทันที


รูปที่ 7 System Properties


รูปที่ 8 Microsoft Windows

9. หลังจากที่เครื่องคอมพิวเตอร์ทำการรีสตาร์ทเสร็จ ให้กด CTRL+ALT+DELETE to log on จากนั้น ให้ใส่ชื่อยูสเซอร์ที่ต้องการล็อกออนในช่อง User name หากเป็นต้องการล็อกออนเข้าโดเมนก็ให้ใส่เป็น Domain_name\Domain_username หากเป็นการล็อกออนเข้าเครื่องโลคอลคอมพิวเตอร์ก็ให้ใส่เป็น Computer_name\Local_username จากนั้นใส่รหัสผ่านในช่อง Password เสร็จแล้วกด Enter หรือคลิกที่ไอคอนรูปลูกศร (ใน Windows 7 Beta จะแสดงหน้าต่าง Press CTRL+ALT+DELETE เหมือนบน Windows XP)

หมายเหตุ:
หากต้องการความช่วยเหลือในการล็อกออน ให้กดปุ่ม CTRL+ALT+DELETE แล้วคลิก Switch User จากนั้นคลิก Other User แล้วคลิกที่ How do I log on to another domain?

10. หากการใส่ยูสเซอร์เนมและรหัสผ่านถูกต้อง ก็จะเข้ายังหน้าเดสก์ท็อปของ Windows 7 ซึ่งผู้ใช้สามารถใช้งานต่างๆ ได้ ตามปกติ

Copyright © 2009 All Rights Reserved.

0 Comment: