Friday, January 24, 2014

การตั้งค่าระบบ Windows Server 2012 ขั้นพื้นฐาน

เนื่องจากในขั้นตอนการติดตั้ง Windows Server 2012 นั้นระบบจะทำการตั้งค่าพื้นฐานของระบบต่างๆ ให้โดยอัตโนมัติซึ่งอาจไม่ตรงกับการใช้งานจริง ในขณะที่การตั้งค่าพื้นฐานบางอย่างจะต้องใช้ค่าที่เฉพาะเจาะจง อย่างเช่น หมายเลขไอพี (IP Address) เป็นต้น บทความนี้ผมจึงจะสาธิตวิธีการตั้งค่าพื้นฐานของระบบต่างๆ ที่จำเป็นต้องทำหลังการติดตั้ง Windows Server 2012 อย่างเช่น การตั้งชื่อคอมพิวเตอร์ (Computer name) การตั้งค่าหมายเลขไอพี เป็นต้น ครับ

Server Manager
การสาธิตนี้จะใช้ Server Manager ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักสำหรับใช้จัดการ Windows Server 2012 (เริ่มมีครั้งแรกใน Windows Server 2008) โดยปกติแล้วระบบจะเปิด Server Manager ให้โดยอัตโนมัติเมื่อเราลงชื่อเข้าเครื่องเซิร์ฟเวอร์ แต่ถ้าหาก Server Manager ไม่เปิดโดยอัตโนมัติเราสามารถเปิดเองได้เองจากไอคอนที่แสดงอยู่บนแถบงาน (Taskbar) หลังจากได้หน้าต่าง Server Manager แล้วขั้นตอนต่อไปให้เลือกจัดการ Local Server ได้โดยการคลิก Configure this local server บนหน้า Dashboard


หลังจากเปิดหน้า Local Server แล้วจากนั้นก็พร้อมสำหรับการตั้งค่าระบบขั้นพื้นฐานให้กับ Windows Server 2012 แล้ว

หมายเหตุ: ขั้นตอนที่ 1 -3 สามารถสลับการดำเนินการได้

ขั้นตอนที่ 1: ตั้งชื่อให้ Windows Server 2012
เนื่องจากในขั้นตอนการติดตั้งนั้นระบบจะทำการตั้งชื่อคอมพิวเตอร์ให้กับเซิร์ฟเวอร์เป็นชื่อที่ได้จากการสุ่มขึ้นมา ดังนั้นเราจะต้องทำการเปลี่ยนเป็นชื่อที่ต้องการใช้งานจริงโดยดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้

1.บนหน้า Server Manager - Local Server ให้คลิกชื่อคอมพิวเตอร์โดยในตัวอย่างนี้คือ WIN-IGI40G6GA48 ซึ่งแสดงอยู่ทางด้านขวาของ Computer name

2. บนแท็บ Computer Name บนหน้า System Properties ให้คลิกปุ่ม Change


3. บนหน้า Computer Name/Domain Changes ให้ใส่ชื่อคอมพิวเตอร์ที่ต้องการในช่องใต้ Computer name ในส่วนของกลุ่มงานนั้นถ้าหากไม่ต้องการใช้ WORKGROUP ที่ระบบกำหนดให้ ก็ให้ใส่ชื่อกลุ่มงานที่ต้องการในช่องใต้ Workgroup เสร็จแล้วคลิกปุ่ม OK


4. จากนั้นระบบจะแสดงข้อความต้อนรับเข้าสู่กลุ่มงานที่ใส่ในขั้นตอนที่ 3 บนหน้า Computer Name/Domain Changes: Welcome to the "Group name" Workgroup ให้คลิกปุ่ม OK


5. จากนั้นระบบจะแจ้งให้ทำการเริ่มต้นระบบเพื่อให้การตั้งชื่อเซิร์ฟเวอร์และกลุ่มงานมีผล โดยบนหน้า Computer Name/Domain Changes: You must restart your computer to apply these changes ให้คลิกปุ่ม OK จากนั้นคลิกปุ่ม Close เพื่อจบการตั้งชื่อและกลุ่มงาน


6. ระบบจะแจ้งเตือนให้ทำการเริ่มต้นระบบอีกครั้ง โดยบนหน้า Microsoft Windows: You must restart your computer to apply these changes ให้คลิก Restart Now ถ้าต้องการเริ่มต้นระบบทันที หรือคลิก Restart Later ถ้าหากต้องการเริ่มต้นระบบภายหลัง (ยังไม่จำเป็นต้องทำการเริ่มต้นระบบในตอนนี้ - รอดำเนินการหลังจากทำการตั้งค่าทุกขั้นตอนแล้วเสร็จเพื่อความรวดเร็ว)


ขั้นตอนที่ 2: ตั้งค่า IP Address ให้ Windows Server 2012
โดยปกติการติดตั้ง Windows นั้นระบบจะกำหนดให้รับหมายเลขไอพีจาก DHCP เซิร์ฟเวอร์ซึ่งค่าที่ได้อาจจะไม่ตรงกับความต้องการใช้งานจริง ดังนั้นเราจะต้องทำการตั้งค่าหมายเลขไอพีให้เป็นค่าที่ต้องการใช้งานจริงตามขั้นตอนดังนี้

1.บนหน้า Server Manager - Local Server ให้คลิก IPv4 address assigned by DHCP, IPv6 enabled ซึ่งแสดงอยู่ทางด้านขวาของ Ethernet 2 (ชื่ออะแดปเตอร์จะแตกต่างกันไปบนแต่ละระบบ)

2. บนหน้า Network Connections ให้คลิกขวาบนอะแดปเตอร์ (ชื่ออะแดปเตอร์จะแตกต่างกันไปบนแต่ละระบบ) ตัวที่ต้องการตั้งค่าหมายเลขไอพี แล้วคลิก Properties


3. บนหน้า Ethernet Properties ให้คลิกเลือก Internet Protocol Version 4 (TCP/IPv4) จากนั้นคลิกปุ่ม Properties


4. บนหน้า Internet Protocol Version 4 (TCP/IPv4) Properties ให้คลิก Use the following IP addess: จากนั้นใส่ค่าในช่อง IP address, Subnet mask, และ Default gateway ให้ถูกต้องและเหมาะสมกับระบบเครือข่ายที่ใช้งาน


ทั้งนี้ เมื่อเลือกตั้งค่าหมายเลขไอพีเอง ระบบบังคับให้ตั้งค่า Prefered DNS server และ Altenate DNS server เองด้วย (เลือก Use the follwing DNS server address ให้โดยอัตโนมัติ) ให้ใส่หมายเลขไอพี DNS เซิร์ฟเวอร์ให้ถูกต้องและเหมาะสมกับระบบเครือข่ายที่ใช้งาน (ขั้นตอนนี้สามารถใส่เฉพาะค่า Prefered DNS server เพียงตัวเดียวได้) เสร็จแล้วคลิกปุ่ม OK แล้วคลิกปุ่ม OK เพื่อจบการตั้งค่าหมายเลขไอพี

ขั้นตอนที่ 3: ตั้งค่า Time zone, Date และ Time
เนื่องจากในขั้นตอนการติดตั้งนั้นระบบจะตั้งค่าโซนเวลา เวลา และวันที่ให้เซิร์ฟเวอร์โดยอัตโนมัติซึ่งค่าที่ได้อาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้นเราจะต้องทำการตั้งค่าใหม่ให้ถูกต้องตามขั้นตอนดังนี้

1.บนหน้า Server Manager - Local Server ให้คลิก (UTC -08:00) Pacific Time (US & Canada) ที่แสดงอยู่ทางด้านขวาของ Time zone

2. บนแท็บ Date and Time บนหน้า Date and Time ภายใต้หัวข้อ Time zone ให้คลิก Change time zone


3. บนหน้า Time Zone Settings ในช่องใต้ Time zone ให้ตั้งเป็น (UTC +07:00) Bangkok, Hanoi, Jakarta เสร็จแล้วคลิกปุ่ม OK


4. บนหน้า Date and Time ให้คลิก Change date and time

5. บนหน้า Date and Time Settings ให้ทำการตั้งเวลาและวันที่ให้ตรงกับเวลาปัจจุบันเสร็จแล้วคลิกปุ่ม OK แล้วคลิกปุ่ม OK เพื่อจบการตั้งค่าโซนเวลา เวลา และวันที่


ขั้นตอนที่ 4: เริ่มต้นระบบ Windows Server 2012
[เฉพาะกรณีที่เลือก Restart Later ในขั้นตอนที่ 1] หลังจากทำการตั้งค่าต่างๆ เสร็จเรียบร้อยทั้ง 3 ขั้นตอนแล้ว จะต้องทำการเริ่มต้นระบบเซิร์ฟเวอร์เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงมีผลการทำงาน ตามขั้นตอนดังนี้

1. บนหน้า Server Manager - Local Server โดยให้คลิก TASKS จากนั้นคลิก Shut Down Local Server


2. บนหน้า Shut Down Windows ภายใต้หัวข้อ What do you want the computer to do? เลือกเป็น Restart ส่วนในหัวข้อ Shutdown Event Tracker ให้เลือกเป็น Operating System: Reconfiguration (Planned) เสร็จแล้วคลิกปุ่ม OK


3. รอจนระบบพร้อมใช้งาน จากนั้นให้ทำการลงชื่อเข้าเซิร์ฟเวอร์ จากนั้นให้ทำการตรวจสอบการตั้งค่าต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าถูกต้องตามที่กำหนด แก้ไขให้ถูกต้องถ้าหากมีข้อผิดพลาด

การเปิดใช้งาน Remote Desktop บน Windows Server 2012 (Option)
Remote Desktop เป็นคุณลักษณะที่ช่วยให้เราสามารถเข้าถึงเครื่องคอมพิวเตอร์จากระยะไกลผ่านทางเครือข่ายซึ่งเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการจัดการเซิร์ฟเวอร์ ดังนั้นหลังจากทำการตั้งค่าระบบขั้นพื้นฐานให้กับ Windows Server 2012 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมแนะนำให้เปิดใช้งาน Remote Desktop เพื่อให้สามารถจัดการเซิร์ฟเวอร์จากระยะไกลได้ ซึ่งทำได้ง่ายๆ ตามขั้นตอนดังนี้

1. บนหน้า Server Manager - Local Server ให้คลิก Disabled ที่แสดงอยู่ทางด้านขวาของ Remote Desktop

2. บนแท็บ Remote บนหน้า System Properties ภายใต้หัวข้อ Remote Desktop ให้คลิกเลือก Allow remote connections to this computer


สำหรับตัวเลือก Allow connections only from computer running Remote Desktop with Network Level Authentication (recommended) นั้นระบบจะเลือกให้โดยอัตโนมัติ ตัวเลือกนี้เป็นการกำหนดเงื่อนไขการเชื่อมต่อโดยจะอนุญาตเฉพาะการเชื่อมต่อจากคอมพิวเตอร์ต้นทางใช้ลูกข่าย Remote Desktop ที่มี Network Level Authentication เท่านั้น ซึ่งในข้อนี้ผมแนะนำให้ใช้งานตามที่ระบบเลือกให้เพราะว่าเป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน

3. ระบบจะแจ้งให้ทราบว่า Firewall ของ Windows ได้อนุญาตให้ทราฟิก Remote Desktop จากทุกเครือข่าย (หากต้องการอนุญาตเฉพาะเครือข่ายที่ต้องการให้คลิก Windows Firewall with Advanced Security - ในที่นี้จะไม่ลงในรายละเอียดนะครับ) บนหน้า Remote Desktop Connection ให้คลิกปุ่ม OK จากนั้นคลิกปุ่ม OK อีกครั้งเพื่อจบการเปิดใช้งาน Remote Desktop บน Windows Server 2012


Copyright © 2014 TWA Blog. All Rights Reserved.

0 Comment: